ข่าวกระแสฮิต » ทล.อัพเกรด วงแหวนตะวันตก เป็นมอเตอร์เวย์ บางปะอิน–บางบัวทอง–พระราม 2

ทล.อัพเกรด วงแหวนตะวันตก เป็นมอเตอร์เวย์ บางปะอิน–บางบัวทอง–พระราม 2

17 เมษายน 2019
798   0

 

กรมทางหลวง ปรับปรุง ถนนวงแหวนด้านตะวันตก บางปะอิน-บางบัวทอง – พระราม 2   รวมกว่า 60 กม. เป็นระบบปิดเก็บค่าผ่านทาง ช่วงบางปะอิน-บางบัวทอง เล็งใช้เงินกองทุน 1 หมื่นล้านก่อสร้าง ส่วนช่วง “บางบัวทอง – พระราม 2 “  เปิด PPP กว่า 3 หมื่นล้าน

  นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า  ตามแผนการก่อสร้างโครงการตามถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ให้เป็นระบบปิดเพื่อเก็บค่าผ่านทางนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางปะอิน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 30 กม. ปัจจุบัน มีขนาด 4 ช่องจราจร (ไป/กลับฝั่งละ2 ช่อง) จะมีการก่อสร้างทางคู่ขนานด้านละ 3 ช่องจราจรก่อน จากนั้นจึงจะ มีการปรับปรุงเพื่อขยายถนนปัจจุบันซึ่งอยู่ตรงกลางจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร และปรับการใช้ถนนตรงกลางเป็นระบบปิดต่อไป   ส่วนถนนคู่ขนานด้านข้างที่ก่อสร้างใหม่ จะเป็นถนนปกติไม่เก็บค่าผ่านทาง

  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนคู่ขนานขนาด 3 ช่องจราจร  งบประมาณก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท  ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี (2562-2564)

  ส่วนการปรับปรุงเพื่อขยายถนนตรงกลางจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร พร้อมระบบด่านเพื่อเป็นมอเตอร์เวย์ในอนาคต รวมถึงสะพานทางยกระดับเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนด้านตะวันออกนั้น กำลังดำเนินการออกแบบ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562 จากนั้นจะเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างต่อไป โดยคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท  โดยคาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุดที่กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างและลงทุนเอง  

  สำหรับการปรับปรุงถนนวงแหวนด้านตะวันตกเป็นระบบปิดช่วงที่ 2 จาก บางบัวทอง-บางขุนเทียนระยะทางประมาณ 37 กม. นั้น จะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับบริเวณเกาะกลางของแนวเส้นทางถนนวงแหวนในปัจจุบัน พร้อมระบบด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน(PPP) คาดว่าจะสรุปผลศึกษาได้ในปี 2562

  ทั้งนี้ จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป/กลับ) ประเมินค่าลงทุนกม.ละ 1,000 ล้านบาท หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท


  โดยปัจจุบัน ถนนวงแหวนด้านตะวันตก ช่วง  บางบัวทอง-บางขุนเทียน มีขนาด 12 ช่องจราจร (ไป/กลับ) ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่นสูงถึงกว่า 1 แสนคัน/วัน ประกอบกับมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาจราจรอย่างมาก การก่อสร้างเป็นทางยกระดับจะช่วยแก้ปัญหาจราจรและยังเปิดถนนปัจจุบันด้านล่าง ให้เป็นทางสัญจรที่ไม่เก็บค่าผ่านทางได้เหมือนเดิม ทำให้เป็นทางเลือกในการใช้เส้นทางของประชาชน