ข่าวเด่น » 1 ข่าวร้าย! ถ้า บิ๊กตู่ ควบ รมว.กลาโหม กับ 2 ข่าวจับตา! ซิมการ์ด 2 แชะอัตลักษณ์และ แบบสอบถาม ให้ฝรั่งหัวแดงแทรกแซงไฟใต้

1 ข่าวร้าย! ถ้า บิ๊กตู่ ควบ รมว.กลาโหม กับ 2 ข่าวจับตา! ซิมการ์ด 2 แชะอัตลักษณ์และ แบบสอบถาม ให้ฝรั่งหัวแดงแทรกแซงไฟใต้

28 มิถุนายน 2019
13602   0

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่อง “ไม่รู้จบ” เพราะไม่ใช่มีเพียงเรื่องของความรุนแรงจากการก่อเหตุของสมาชิกขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ เกิดขึ้นที่เป็นเรื่อง “ทับซ้อน” จากนโยบายดับไฟใต้ จนกลายเป็นเหมือน “ดับไฟกองเก่า” แล้วไป “ก่อไฟกองใหม่” จนดูเหมือนว่าชาตินี้ทั้งชาติไฟใต้ไม่น่าจะมีวันดับได้หมดสิ้น

ในขณะที่ “เหตุร้ายรายวัน” ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามสถานการณ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจาก “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ในพื้นที่ ล่าสุด ก็คือการวางระเบิดแสวงเครื่องที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจค้นและจับกุมผู้ก่อเหตุที่ “แวบไป แวบมา” ในพื้นที่ ซึ่งก็มีผลงานในการ “จับเป็น” และ “จับตาย” เป็นระยะๆ

ปัญหาใหม่ที่กลายเป็นประเด็นฮอตๆ ล่าสุดในขณะนี้มีอยู่ 3 ประเด็นที่ควรแก่การสนใจ ซึ่งเกิดจาก “ความเห็นต่าง” และกำลังกลายเป็น “ความขัดแย้ง” อันสุดท้ายก็อาจจะเป็นการ “แบ่งเขา แบ่งเรา” โดยการใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือของการ “ไอโอ” เพื่อสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้น

ประเด็นแรกคือ เรื่องการ “จดทะเบียนซิมการ์ด” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยวิธีการ “สแกนใบหน้า” หรือที่เรียกว่า “2 แชะอัตลักษณ์”

ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดคือ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 นี้ และหากพ้นกำหนดไปแล้ว ผู้ที่ไม่ไปดำเนินการตามโครงการนี้จะใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อยไม่ได้

ตามข้อเท็จจริง กสทช. คือเจ้าของเรื่อง ซึ่งเป็นผู้กำหนดระเบียบให้คนทั้งประเทศต้องลงทะเบียนซิมการ์ด เพียงแต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้นำระเบียบดังกล่าวของ กสทช.มาเร่งรัดเวลาในการดำเนินการให้เร็วขึ้นเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในเบื้องต้น ไม่ได้ลงรายละเอียดของ “ความจำเป็น” ที่ต้องเร่งรัดบังคับใช้เฉพาะพื้นที่นี้ด้วยสาเหตุอะไร จนเป็นเหตุให้มีผู้เห็นต่างแสดงความเห็นแย้ง จนสุดท้ายกลายเป็น “วิวาทะ” ผ่านช่องทางโซเชียลและมีการสร้าง “ความเกลียดชัง” ระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่เห็นต่างด้วยการทำ “ไอโอ” ทั้งฝ่ายของบีอาร์เอ็นฯ และฝ่ายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นตัวแทน

เมื่อติดตามผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นต่างในเรื่อง “2 แชะอัตลักษณ์” ที่ส่วนใหญ่อ้างเรื่องการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” นั้นเห็นว่า พวกเขาเหล่านั้นมีการนำเสนอให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ แทนที่จะใช้ระเบียบของ กสทช.แล้วนำมาทำเป็นประกาศของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่สำคัญถ้าตราเป็นกฎหมายได้ประเด็นของความเห็นต่างและความขัดแย้งก็จะหมดไป

ความจริงหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการจัดระเบียบควบคุมซิมการ์ดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถือเป็น “ต้นเหตุ” หนึ่งในหลายๆ เหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และเป็นเครื่องมือสื่อสารในการสร้างเครือข่ายของการก่อการร้าย สำหรับในส่วนของผู้ที่โต้แย้งก็มีในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว เพราะไม่เข้าใจถึงการก่อการร้ายของขบวนการที่ใช้ “ซิมการ์ด” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการก่อการร้าย ซึ่งก็ต้องแจงรายละเอียดของความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของการ “ดับไฟใต้” ให้ชัดเจน และเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในที่สุด

ส่วนเครือข่ายของบีอาร์เอ็นฯ ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น กอ.รมน.ก็ต้องแสดงหลักฐาน หาข้อเท็จจริงมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ว่า กลุ่มก้อนไหนบ้างที่เป็นเครือข่ายของบีอาร์เอ็นฯ และรับลูกจากบีอาร์เอ็นฯ เพื่อปลุกระดมให้คนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพื่อหวังผลให้เกิดความเกลียดชัง ความเข้าใจผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อหวังผลต่อการ “แบ่งแยกคน” เพื่อการแบ่งแยกดินแดนตามยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นฯ

อีกทั้งจะเป็นการดีเหมือนกันถ้าจะมีการออกมา “เปิดเผยชื่อ” คนที่เห็นต่างและประณามกันตรงๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ อันเป็นการ “เปิดหน้าชก” กันไปเลยเพื่อแยกมิตรและแยกศัตรูอย่างชัดเจน ไม่ต้องเป็น “อีแอบ” กันอีกต่อไป แล้วถ้าจะให้ดีเวลาจัดงบประมาณให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมก็ต้องตัดงบของกลุ่มที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เห็นว่าเป็นฝ่ายของบีอาร์เอ็นฯ ด้วยน่าจะดี

วันนี้ “ซิมการ์ด” ได้ลดความจำเป็นในการใช้ “จุดระเบิด” ไปมากแล้ว เพราะการจุดระเบิดแสวงเครื่องสามารถใช้วิธีการอื่นๆ ได้ แต่ซิมการ์ดมีความสำคัญในการสื่อสารเพื่อการก่อการร้ายของเครือข่ายบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งหาก กอ.รมน.สามารถควบคุมซิมการ์ดได้อย่างเบ็ดเสร็จ นั่นก็อาจจะ “จำกัดเสรีภาพ” ของแนวร่วมในการสื่อสารเพื่อติดต่อประสานงานได้มากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันการติดต่อประสานงานจะมีช่องทางใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ซิมการ์ดอีกต่อไปก็ตาม แต่ขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าซิมการ์ดยังมีความสำคัญกับเครือข่ายการก่อการร้ายในพื้นที่อยู่ดี

ความจริงเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอีกหลายเรื่อง หลายประเด็น แค่การบังคับให้กฎหมายในหลายๆ ฉบับ และวิธีการปฏิบัติต่อผู้คนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นการ “ละเมิดสิทธิ” อยู่แล้ว แต่ถ้าเข้าใจว่านั่นเป็น “ความจำเป็น” เพราะการแก้ปัญหาความไม่สงบ สามารถหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ คนในพื้นที่ก็ต้อง “หวานอมขมกลืน” ยอมทนบ้าง ยอมลำบากบ้าง เพื่อที่จะได้เห็น “แสงสงว่างที่ปลายอุโมงค์” กันบ้างเสียที

เพียงแต่วันนี้คนส่วนหนึ่งในพื้นที่เองก็ไม่มั่นใจในนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะที่ผ่านมา มีการใช้นโยบายต่างๆ มากมายในการ “จำกัดสิทธิเสรีภาพ” ในการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” และสร้าง “ความยุ่งยาก” ให้แก่คนในพื้นที่ แต่ปัญหาไฟใต้กลับไม่เคยลดลง สถานการณ์ยังคงเกิดเหตุร้ายรายวัน และส่วนใหญ่ “ไทยพุทธ” ก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ตลอดเวลา

ในสมัยที่ บิ๊กอาร์ท-พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ยังเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ก็มีความเห็นว่า “ถังแก๊ส” เป็นเครื่องมือที่แนวร่วมใช้สร้างระเบิดแสวงเครื่อง จนมีการออกระเบียบให้ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเปลี่ยนจาก “ถังเหล็ก” ไปเป็น “ถังคอมโพสิต” มาแล้ว ถ้าใครมีถังแก๊สเหล็กในครอบครองก็จะเอาผิด ทั้งปรับและจำคุก แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถบังคับผู้ขายแก๊สแค่ 2 บริษัทในพื้นที่ได้ และปัญหาของถังแก๊สก็ถูก “ทิ้งไว้กลางทาง” ให้คาราคาซังจนถึงบัดนี้

ในสมัยของ แม่ทัพปราการ-พล.ท.ปราการ ชลยุทธ ก็มีการประกาศใช้ “ทุ่งยางแดงโมเดล” เพื่อการดับไฟใต้ สุดท้ายหลังจากที่พ้นตำแหน่งทุ่งยางแดงโมเดลก็หายจ้อย ไม่มีการกล่าวถึงอีก เช่นเดียวกับในสมัยที่ พล.ท.กสิกร คีรีศรี มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องมี “สติกเกอร์หน้ารถ” เพื่อควบคุมยานพาหนะ แต่สุดท้ายทุกนโยบายของทุกแม่ทัพก็ล้มเหลว และเป็นการล้มเหลวที่สร้างและทิ้ง “ภาระ” ให้แก่คนในพื้นที่

แต่เอาเถอะ! ในเมื่อคนในพื้นที่ต้องมีความหวังที่จะเห็นสถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นจึงขอให้อดทนในการที่จะเป็น “หนูลองยา” ต่อไป ในเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกละเมิดมาโดยตลอด แล้วถ้าจะถูกละเมิดอีกครั้งด้วยโครงการ “2 แชะอัตลักษณ์” ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องของ “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่จะทนกันไม่ได้

เผื่อว่าการออกกฎระเบียบควบคุมซิมการ์ดในครั้งนี้จะได้ผลในเรื่องการลดความรุนแรงลงได้จริง และสร้างความลำบากหรือตัดเครือข่ายการสื่อสารของบีอาร์เอ็นฯ ได้จริง นั่นก็ควรต้องยอมเป็นหนูลองยาอีกสักหน แล้วคงไม่ถึงกับทนไม่ได้

แต่ถ้าสุดท้ายแล้วหลังวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ไฟใต้ยังไม่ลดลง โจรใต้หรือแนวร่วมยังก่อเหตุรายวันได้ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนยังเจ็บและตายรายวัน นั่นก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่า การควบคุมซิมการ์ด์คืออีกนโยบายหนึ่งที่ “ล้มเหลว” ก็ได้แต่หวังว่า กฎระเบียบการควบคุมซิมการ์ดของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ครั้งนี้จะไม่ “แท้งก่อนคลอด” เหมือนกับหลายๆ นโยบายที่ผ่านมา

ประเด็นที่สองคือ เรื่องที่มีการสอบถามกันมามากว่าการจัดเวทีแล้วแจก “แบบสอบถาม” ให้ชาวบ้านตอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่บอกว่าเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ “องค์กรสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” เป็นความจริงหรือไม่ และขณะนี้มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องให้ยูเอ็นรับรู้ถึงสถานการณ์ รู้ถึงความเห็น รู้ความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เรื่องนี้ก็ต้องขอบอกกันตรงๆ ว่าเป็นการ “แทรกแซง” ของต่างชาติ และเป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้วใน จ.ปัตตานี เพราะมีหน่วยงาน “ซีไออาร์ซี” ของฝรั่งตาน้ำข้าวปฏิบัติการเก็บข้อมูล เก็บรายละเอียดของสถานการณ์ ของความขัดแย้งแบบ “เข้าถึง” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มากกว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานต่างชาติที่ต้องจับตามองให้ดีว่าเป็นการเตรียมที่จะ “มีบทบาท” ต่อการจัดการกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ สถานการณ์ถูกพัฒนาในถึงจุดๆ หนึ่งหรือไม่ อย่างไร

เรื่องนี้ต้องขอให้คนในพื้นที่จับตามองให้ดีว่า สุดท้ายแล้ว หน่วยงานนี้จะเป็น “ผู้หวังดี” หรือ “หอกข้างแคร่” กันแน่

ขอย้ำอีกครั้งว่าไฟใต้จะสงบลงได้ 1 ต้องหยุดการ “นำคนหนุ่มคนสาว” ในพื้นที่เข้าสู่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ 1 ต้องเจรจาให้  “มาเลเซีย” หยุดให้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ใช้เป็นที่พักพิง และอีก 1 คือต้องไม่ปล่อยให้ “ต่างชาติ” เข้ามาก้าวก่ายและใช้สถานการณ์เป็นเงื่อนไขต่อรอง

สำหรับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วยังต้อง “ตั้งรับ” กันให้มั่นเหมาะ เพราะยังมีปัญหาที่ติดตามมาให้พบให้อีกกระบุงโกย ยังมีความลำบากยากเข็ญอีกมากที่ต้องพบเจอ และใครที่ดีใจกับการเดินทางมาของ “ตัน สรี นูร์”

ผู้อำนวยความสะดวกในการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน จงเลิกดีใจได้แล้ว เพราะนั่นไม่ใช่การส่งสัญญาณใหม่ในการเดินหน้าของการตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุขแต่อย่างใด

เนื่องเพราะมีข่าวว่าบุคคลที่ ตัน สรี นูร์ จะจับเชิดแทน “มะสุกรี ฮารี” ให้เป็นหัวหน้าตัวแทนกลุ่มมาราปาตานีในคณะพูดคุยสันติสุขกับรัฐไทยคือ “มะ ชูโว” ซึ่งก็คือ 1 ใน 10 แกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่ถูกจับกุมเมื่อปี 2547 และมีอดีตแม่ทัพภาค 4 ท่านหนึ่งเป็น “นายประกัน” ให้ก่อนจะหลบหนีไปอยู่ประเทศมาเลเซียจนถึงปัจจุบัน

ใช่อย่างแน่นอนว่า “มะ ชูโว” เป็นแกนนำบีอาร์เอ็นฯ เช่นเดียวกับ “มะสุกรี ฮารี” ก็เป็นแกนนำบีอาร์เอ็นฯ แต่ “มะ ชูโว” เวลานี้เป็นได้แค่ “ตัวเปิด” เท่านั้น และก็ไม่มีความสำคัญต่อขบวนการแล้ว

ดังนั้น ถ้า “มะ ชูโว” ถูกมาเลเซียเชิดให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายมาราปาตานี ผลที่เกิดขึ้นก็จะเป็น “อีหรอบเดิม” แบบที่ผ่านๆ มา เอาให้ชัดคือเป็นการจับตัวแทนรัฐไทยไปพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งหาใช่การพูดคุยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่ปฏิบัติการก่อการร้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้ ดังนั้น จึงอาจจะเป็น “ความล้มเหลว” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นได้นั่นเอง

สำหรับประเด็นสุดท้าย มีเรื่องราวที่อยากบอกเล่าว่าอาจจะเป็น “ข่าวร้าย” ของกระบวนการดับไฟใต้ก็เป็นได้ หากว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

ที่ต้องบอกว่าอาจจะเป็นข่าวร้ายเพราะกว่า 5 ปีที่ผ่านมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทุ่มเททั้งความรู้ ความสามารถในการดับไฟใต้จนหมดสิ้นไปแล้ว แม้แต่ “ลูกไม้ใต้เชี่ยน” ก็ใช้ไปหมดแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งวิสัยทัศน์ในการดับไฟใต้มีแค่ไหน ซึ่งก็คงมีแค่นั้นและเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว

ที่สำคัญในการรีเทิร์นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ในฐานะ “หัวหน้า คสช.” ได้จบสิ้นไปแล้ว แถมยังเป็น “รัฐบาลผสม” แบบ “เสียงปริ่มน้ำ” ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้งที่ ส.ส.มีสิทธิและเสียงในสภา ไม่ใช้สภาเผด็จการที่จะสั่งซ้ายหันหรือขวาหันได้อย่างใน 5 ปีที่ผ่านมา

ว่ากันว่าแค่ต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแสดงบท “ฤษีเลี้ยงลิง” หรือ “จับปูใส่กระด้ง” กับบรรดา ส.ส.ต่างพรรค ต่างก๊วน เพื่อประคับประคองให้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานที่สุด นั่นก็แทบจะหมดเวลาที่จะคิดเรื่องการแก้ไขวิกฤตไฟใต้แล้วนั่นเอง